ปัจจุบันการทำใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว หากเราศึกษาข้อมูลและเตรียมตัวให้พร้อมทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติรวมถึงคุณสมบัติและเอกสารต่าง ๆ ว่าจะมีข้อมูลเบื้องต้นอะไรบ้าง เช่นการเตรียมตัว หรือขั้นตอนต่าง ๆ ควรรู้ไว้นั้น วันนี้เราจะมาบอกเล่าให้ได้เตรียมตัวกันให้พร้อม เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการกันครับ
คุณสมบัติของผู้ที่จะขอใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์
คุณสมบัติเป็นสิ่งแรกที่ต้องตรวจสอบทุกข้อ ว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ส่วนจะมีอะไรบ้างมาเช็กพร้อม ๆ กันเลย
1. อายุของผู้ที่จะขอใบขับขี่
- สำหรับผู้ขอใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคลชั่วคราว ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
- สำหรับผู้ขอใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคลที่มีขนาดความจุกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน 110 ลูกบาศก์เซนติเมตร ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์
- สำหรับผู้ขอใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์สาธารณะ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
2. มีความรู้ความสามารถในการขับรถมอเตอร์ไซค์
3. มีความรู้ในข้อบังคับการเดินรถตามพระราชบัญญัติรถยนต์ และตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
4. ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่สามารถขับรถได้
5. ไม่มีโรคประจำตัวที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ
6. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน
7. ไม่มีใบขับขี่รถชนิดเดียวกันอยู่แล้ว
8. ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบขับขี่
เอกสารประกอบการขอใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์
เมื่อเช็กคุณสมบัติครบถ้วนแล้วก็มาเตรียมเอกสารประกอบที่จะใช้ในการขอใบขับขี่กันครับ ซึ่งมีหลัก ๆ 2 อย่างดังนี้
1. บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง (Passport) ฉบับจริงและใบอนุญาตการทำงาน (Work Permit) สำหรับชาวต่างชาติ พร้อมด้วยสำเนาเอกสารดังกล่าว
2. ใบรับรองแพทย์ ที่แสดงว่าผู้ขอไม่มีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ และไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งมีอายุใช้ได้ตามที่แพทย์ผู้รับรองกำหนด ไม่เกิน 1 เดือน
3. ใบรับรองการอบรม (สำหรับกรณีผู้ทำการอบรมนอกกรมขนส่งทางบก)
ขั้นตอนการดำเนินการขอใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์
1. จองคิวในการอบรม สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการนั้น ก่อนอื่นต้องจองคิวในการอบรม ซึ่งการอบรมจะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง สามารถจองได้ผ่าน 3 ช่องทางดังนี้ครับ
- จองคิวอบรมได้ที่กรมขนส่งทางบก ในพื้นที่ใกล้บ้าน ซึ่งเปิดให้ประชาชนสามารถจองคิวล่วงหน้าได้ด้วยตัวเองพร้อมหลักฐานประกอบคำขอตามที่แจ้งไว้เบื้องต้น
- จองคิวอบรมผ่านทางโทรศัพท์ ที่หมายเลข 02-271-8888 หรือ 1584 โดยผู้ที่จองคิวอบรมผ่านทางโทรศัพท์ ต้องมาลงทะเบียนในวันที่อบรมก่อนเวลา 08.00 น.
- จองคิวอบรมผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ ebooking.dlt.go.th/ebooking
2. ทดสอบสมรรถนะร่างกาย หลังจากที่จองคิวอบรมแล้ว ในวันที่อบรม ทุกคนต้องเข้ารับการตรวจและทดสอบสมรรถนะร่างกาย ดังนี้
- ทดสอบสายตาทางกว้าง เพื่อทดสอบความสามารถในการมองเห็นของสายตาทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ซึ่งเป็นมุมกว้างข้างละตั้งแต่ 75 องศา
- ทดสอบการตอบสนองของเท้า เพื่อทดสอบความสามารถในการใช้เบรกเท้าเพื่อหยุดรถมอเตอร์ไซค์ให้เร็วที่สุด
- ทดสอบสายตาทางลึก เพื่อการทดสอบการมองเห็นในระยะ 2.50 – 3.50 เมตร
- ทดสอบตาบอดสี เป็นการทดสอบการมองเห็นสี ซึ่งจำเป็นต่อการขับรถเช่นการดูไฟและป้ายจราจรต่าง ๆ
3. เข้ารับการอบรม การอบรมจัดขึ้นเพื่อสร้างสำนึกการขับขี่บนท้องถนน โดยเนื้อหาอบรมจะเกี่ยวกับความรู้ด้านกฎหมายการจราจรทางบก เทคนิคการขับรถอย่างปลอดภัย หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ขับรถ เป็นต้น ซึ่งใช้เวลาในการอบรมทั้งหมดประมาณ 5 ชั่วโมง โดยแบ่งเนื้อหาการอบรมออกเป็นดังนี้
- ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจรทางบก 30 นาที
- ความรู้เทคนิคการขับขี่อย่างปลอดภัย 30 นาที
- ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายหมายการขนส่งทางบก กฎหมาย แพ่ง อาญา 30 นาที
- ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ผู้ขับรถ และการบำรุงรักษารถ 30 นาที
- ความรู้เกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ และมารยาทในการขับรถ 30 นาที
- ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพพลานามัย 30 นาที
- หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ขับรถ 30 นาที
- หัวใจของการบริการทางขนส่ง 30 นาที
- การตรวจความพร้อมของรถก่อนและหลังการใช้งาน 30 นาที
- ความรู้เกี่ยวกับการขับรถลากจูง และการขับรถลากจูงอย่างปลอดภัย 30 นาที
4. สอบข้อเขียน ในการสอบข้อเขียนนั้น จะสอบเกี่ยวกับป้ายจราจรและกฎจราจร ซึ่งมีจำนวน 50 ข้อ เป็นข้อสอบแบบปรนัย มีให้เลือก ก-ง จะตัดสินว่าผ่านเกณฑ์การสอบที่ 45 คะแนน หรือคิดเป็น 90% ของข้อสอบทั้งหมด แต่หากสอบไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถกลับมาสอบใหม่ ในกำหนดเวลาไว้ไม่เกิน 90 วัน
5. สอบภาคปฏิบัติ ผู้ขับขี่จะต้องทำการสอบขับขี่รถจักรยานยนต์ สามารถใช้รถตัวเองหรือใช้บริการเช่ารถของกรมขนส่งก็ได้ ซึ่งค่าเช่าจะอยู่ที่คันละ 50 บาท โดยการสอบต้องขับขี่ตามท่าที่กำหนดไว้ทั้งหมด 5 ท่า ดังนี้
- ท่าที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร
- ท่าที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ ทรงตัวบนทางแคบ ทรงตัวไว้โดยไม่ให้เท้าแตะพื้นประมาณ 10 วินาที
- ท่าที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ผ่านโค้งแคบ รูปตัว Z
- ท่าที่ 4 ขับรถจักรยานยนต์ผ่านโค้ง รูปตัว S
- ท่าที่ 5 ขับรถจักรยานยนต์ซิกแซก ผ่านสิ่งกีดขวาง
6. ชำระค่าธรรมเนียมและรับใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ เมื่อผ่านการทดสอบทั้งข้อเขียนและภาคปฏิบัติแล้ว ให้มาชำระค่าธรรมเนียมภายในเวลาที่กำหนดคือ 15.30 น. ซึ่งมีค่าใช้จ่ายดังนี้
- ค่าคำขอ 5 บาท
- ค่าใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลชั่วคราว 100 บาท
หลังจากจ่ายค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว จะเป็นการถ่ายภาพสำหรับติดบัตร และรับใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ เท่านี้ก็ถือว่าเป็นอันเสร็จสิ้นแล้วครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aphonda.co.th